(แฟ้มภาพซินหัว : วาฬหลังค่อมกลางทะเลนอกชายฝั่งในเมืองรีโอเดจาเนโรของบราซิล วันที่ 3 ก.ค. 2024)
เวลลิงตัน, 8 ก.พ. (ซินหัว) -- คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติพบว่าเสียงและการร้องเพลงของวาฬมีโครงสร้างเหมือนกับภาษาของมนุษย์ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์เสียงโหยหวน เสียงครวญคราง เสียงแหลมเล็ก และเสียงอื่นๆ จากบันทึกเพลงของวาฬหลังค่อมในนิวแคลิโดเนียในแปซิฟิกใต้ ซึ่งใช้เวลาเก็บรวบรวมถึง 8 ปี
เอ็มม่า แครอลล์ นักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์และผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์วาฬ เผยว่าเสียงร้องของวาฬและคำพูดของมนุษย์มีรูปแบบเหมือนกัน สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าวาฬมีภาษา แต่อาจชี้ให้เห็นถึงความคล้ายคลึงในระบบการสื่อสารและการเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิตสองสายพันธุ์ที่อยู่ห่างไกลกันในแง่วิวัฒนาการ
ในภาษาของมนุษย์ คำที่ใช้บ่อยที่สุดจะปรากฏมากกว่าคำทั่วไปที่ใช้บ่อยเป็นอันดับ 2 ประมาณสองเท่า และมากกว่าคำทั่วไปที่ใช้บ่อยเป็นอันดับ 3 ถึงสามเท่า โดยคำที่ใช้บ่อยที่สุดมักเป็นคำที่สั้นมาก อาทิ "เดอะ" (the) "ออฟ" (of) และ "แอนด์" (and)
ในการวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารไซแอนซ์ (Science) นักวิจัยได้แบ่งบทเพลงของวาฬออกเป็นสัดส่วน และพบว่าวาฬใช้กฎเกณฑ์ความถี่และความกระชับของคำแบบเดียวกัน ซึ่งโครงสร้างข้างต้นอาจช่วยเรื่อง "ความสามารถในการเรียนรู้" เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในมนุษย์
การร้องเพลงของวาฬหลังค่อมเป็นการถ่ายทอดเสียงที่ซับซ้อนที่สุดรูปแบบหนึ่งในอาณาจักรสัตว์ ถือเป็นตัวอย่างโดดเด่นของพฤติกรรมที่เรียนรู้จากสังคม และพฤติกรรมที่ถ่ายทอดผ่านทางวัฒนธรรม บทเพลงเหล่านี้ขับร้องโดยวาฬหลังค่อมเท่านั้น ซึ่งน่าจะมีบทบาทในการเลือกคู่ครอง โดยการวิจัยพบว่าบทเพลงอาจมีความยาวได้ถึง 20 นาที และมีเสียงหลายประเภทเรียงเป็นรูปแบบ
นักวิจัยทิ้งท้ายว่าครั้งหนึ่งหลายฝ่ายเคยเชื่อกันว่าภาษาเป็นสิ่งที่มีเฉพาะในมนุษย์ แต่อาจเป็นไปได้ว่าลักษณะพื้นฐานของภาษามนุษย์นั้นเป็นจุดร่วมในหลายสิ่งมีชีวิต